วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Thai Mural Painting 2


ศิลปะแบบเรียลลิสม์ ในจิตรกรรมฝาผนังของไทย (บทท้าย)
๓. จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที 1 (๑๘๕๑- ๑๘๖๘) หรือสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความเคลื่อนไหวทางศิลปะจิตรกรรมฝาผนังในประเทศไทย ได้ดำเนินมาถึงทางแยกใหญ่แล้วในรัชสมัยของรัชกาลทีี่ ๔ นี่เอง อย่างที่เราคงจะรู้กันดีอยู่แล้วว่า ในรัชสมัยรัชกาล ที่ ๔ นั้น สยามประเทศเริ่มรับอิทธิพลตะวันตกมากขึ้น วิถีการใช้ชีวิตของชาวสยามก็ดูเหมือนว่า จะเปิดสู่โลกภายนอกมากยิ่งขึ้น เจ้านายเริ่มพูดภาษาต่างประเทศและเรียนภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและชนชั้นปกครอง ต่างเล็งเห็นว่า การเรียนภาษาต่างประเทศนั้นมีแต่จะเอื้อคุณและส่งผลเป็นประโยชน์มหาศาล เนื่องจากตอนนั้นเป็นยุคฝรั่งล่าอาณานิคม หากเราจะทำตัวแตกแยกจากฝั่งตะวันตกมากเกินไป ย่อมจะเกิดเหตุการณ์ไม่ดีอย่างแน่นอน อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนี้เอง ส่งผลไปยัง “ศิลปะ” รวมทั้งจิตรกรรมฝาผนัง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การสร้างสรรค์ศิลปะ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด ที่จะแสดงออกให้ต่างชาติ ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในสยามอย่างมาก ได้ตระหนักเห็นว่า สยามไม่เป็นรองใคร ไม่ใช่เมืองป่าเถื่อน และเป็นประเทศที่ไม่ด้อยน้อยไปกว่าประเทศใดเลย ดังนั้นรูปแบบประเพณีนิยมในการวาดจิตรกรรมฝาผนังที่วางรากมาเนิ่นนาน ตั้งแต่สมัยอยุธยา จึงเปลี่ยนรูปโฉมใหม่ แตกต่างไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง โดยเปลี่ยนจากศิลปะที่เป็นลักษณะคตินิยมสูงสุด มาสู่ศิลปะแบบเหมือนจริง หรือ ที่เราเรียกกันว่า เรียลลิสม์ ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า อะไรคือ เรียลลิมม์ ในจิตรกรรมฝาผนังของไทย? แน่ละ..ศิลปินคงจะไม่ลุกขึ้นมาวาดรูป Portrait นางฟ้า เทวดา ในลักษณะสามมิติมีแสงเงาชัดเจนเหมือนอย่างศิลปินชาวอิตาลีเป็นแน่ แต่เปลี่ยนจาก วาดภาพเทวดานางฟ้ามาวาดคนธรรมดา เปลี่ยนจากเขียนภาพที่แสดงอารมณ์นิ่งและสงบ มาสู่ความตื่นเต้นและเต็มไปด้วยอารมณ์ ยกตัวอย่างเช่นรูปใน วัดมัชฌิมาวาส จ. สงขลา ผู้อ่านจะสังเกตเห็นว่า วิธีการเขียนท้องฟ้า เมฆ ภูเขา ใช้ระบบการเขียนรูปแบบทัศนียวิทยาอย่างเด่นชัด เช่น การผลักระยะใกล้ไกล โดยให้พระมหาชนกและนางมณีเมขลา ( รูปตัวละครทั้งสองที่ถูกแต่งแต้มด้วยสีทอง) ดูเด่นขึ้นด้วยการใช้เส้นเปอร์สเปคทีฟ ให้รูปเรือโบราณฝรั่งจูงสายตาของผู้ดู ไปหยุดที่ภาพตัวละครเอกได้อย่างแยบยลและเป็นธรรมชาติ อย่างไรก็ดี ตัวละครทั้งสองยังมีลักษณะการเขียนแบบไทยประเพณี แต่ธรรมชาติรอบตัว ล้วนแสดงออกอย่างดีว่าศิลปินตั้งใจจะเขียนให้ภาพออกมาในแบบเรียลลิสม์เพียงใด
เช่นลักษณะทะเลที่แปรปรวน ใช้เทคนิคการเขียนฝีแปรงลงจังหวะสีปัดป้าย บ่งบอกความรุนแรงน่ากลัวได้อย่างเหมาะสม สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในจิตรกรรมยุคนี้คือ การนำภาพวิถีชีวิตและบทบาทต่างๆของตัวละครฝรั่งมาใช้ในจิตรกรรมฝาผนังของไทย ในมุมมองของผู้เขียนเองแล้ว รู้สึกประทับใจมากเป็นพิเศษ เหตุเพราะ ผู้เขียนมีความเห็นว่า การเขียนรูปฝรั่งและเรืื่องราวของพวกเขาในแผ่นดินสยามเหล่านี้ เปรียบเสมือน “บันทึก” ที่เราสามารถนำมาเชื่อมกับประวัติศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ได้อย่างดีเยี่ยมทีเดียว จิตรกรที่เลื่องชื่อว่ามีความเป็นหนึ่งในการเขียนรูปในลักษณะลอกเลียนภาพฝรั่งในยุคนี้ คือ ท่านขรัวอินโข่ง ( วัดบวรนิเวศวิหารและวัดบรมนิวาส, น.ณ.ปากน้ำ) ท่านขรัวอินโข่งนิยมเขียนภาพตึกรามบ้านช่องแบบยุโรป ซึ่งล้วนลอกมาจากภาพลายเส้นภาพพิมพ์ที่่ขายกันอย่างแพร่หลายในสมัยนั้น บางทีท่านขรัวอันโข่ง ก็เขียนภาพโดยใช้ฉากคนฝรั่่งเดินเล่นตามสวนสาธารณะ หรือ กำลังแข่งม้า ขี่ม้า หรือ นั่งรถม้า เป็นต้น (วัดโสมนัสวิหาร) และหากจะโยงไปถึงภาพในเชิงพุทธศาสนาแล้วละก็ ท่านขรัวอินโข่งก็ดูจะมีบทบาทโดดเด่นอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ถือว่าท่านเป็นผู้นำของการเปลี่ยนแปลงภาพเขียนคติใหม่คนหนึ่งก็ว่าได้ โดยนิยมเขียนภาพพุทธศาสนาเชิงปริศนาธรรมแทนที่จะเขียนภาพสอนชาวบ้านแบบตรงไปตรงมาดังแต่ก่อน ซึ่งผู้ที่เป็นเอกแห่งการประพันธ์เรื่องพุทธศาสนาในเชิงปริศนาธรรม มีอุปมาอุปไมยอย่างแยบคาย ก็คือ สมเด็จพระจอมเกล้านั่นเอง
กลับมาที่เรื่องการเขียนฉากต่างประเทศ ฉากต่างประเทศอีกแนวหนึ่งที่ได้รับความนิยมและเฟืื่องฟูอย่างมากในสมัยเรียลลิสม์ตอนต้น ก็คือ การเขียนฉากที่มีอารมณ์ฝันเฟื่องถึงต่างแดน หรือ ที่เราเรียกกันว่า “ Exotic” ซึ่งส่วนใหญ่นำมาจากบทพรรนาของหม่อมราโชทัยจาก “นิราศลอนดอน” ฉากเฟื่องฝันเช่นนี้ยังสามารถเห็นได้ใน “วัดโสมนัสวิหาร” ที่มีตัวละครเอกชื่อ “ อิเหนา” ประกอบไปด้วยฉากแปลกตางดงามยิ่งนัก.
( หากผู้อ่านจะนึกเคลิ้มตามผู้เขียน เกี่ยวกับฉากต่างประเทศในจิตรกรรมไทยในรัชสมัยนี้แล้ว ผู้เขียนขอแนะนำให้ไปศึกษาหรือดูเพื่อความฉ่ำใจได้ที่ วัดโสมนัสวิหาร, หรือ ผนังพระอุโบสถวัดประทุมวนาราม,และวัดมหาพฤฒาราม)
จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ ๕ (๑๘๖๘- ๑๙๑๐) หรือสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังคงได้รับอิทธิพลการพัฒนาการครั้งยิ่งใหญ่ สืบเนื่องมาจากสมัยรัชกาลที่ ๔ อยู่มาก แต่แตกยอดออกไปพัฒนาทางด้านการตกแต่งมากขึ้น เช่น ภาพฉากบรรยายวิถีชิวิตของคนสยาม เราจะเห็นภาพหญิงสาวใส่เสื้อคอกระเช้า แขนหมูแฮม มือถือร่ม และชายหนุ่ม นุ่งผ้าม่วง สวมเสื้อราชปะแตน ถือหมวกและไม้เท้า และอุปกรณ์แปลกๆที่นำมาประกอบในฉากล้วนมาจากต่างชาติทั้งสิ้น

จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชการที่ ๖ ( ๑๙๑๐- ๑๙๒๕) หรือสมัยสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
จิตรกรชื่อเด่นและเฟื่องฟูยุคนั้นมีหลายท่านด้วยกัน เช่น สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์,พระอนุศาสตรวิจิตรกร,พระวรรณาวาดวิจิตร.
พระเทวาภินิมมิต ในสมัยรัชกาลที่ ๖ นี้ ศิลปะวิทยาการส่งผลต่อจิตรกรรมฝาผนังอย่างเต็มตัว ศิลปินหลายท่านฝึกเรียนและวาดภาพระบบกายวิภาค ( Anatomy) อย่างจริงจัง ศิลปินที่น่ายกย่องอย่างยิ่ง ในความคิดสร้างสรรค์ถึงขั้นอัจฉริยะ คือ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ท่านทรงออกแบบภาพลายเส้นแบบไทยประยุกต์ โดยเขียนภาพลักษณะตัวละครไทยประเพณีก็จริงแต่ก็เขียนแบบกายภาคศาสตร์แบบฝรั่งด้วยเช่นกัน ทำให้ภาพเกิดเป็นรูปแบบเฉพาะตัว ลายเส้นมีทั้งอ่อนหวานและมีเปอร์สเปคทีฟอย่างฝรั่ง นับว่าเป็นการผสมผสานทั้งของใหม่และเก่าได้อย่างงดงามยิ่งนัก

จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ ๗ ( ๑๙๒๕- ๑๙๓๒)หรือ สมัยสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมัยรัชกาลที่ ๗ เป็นยุคที่สยามประเทศก้าวเข้าสู่ความเป็นตะวันตก ทั้งในแง่สังคมและศิลปะอย่างเต็มที่ รัชกาลที่ ๗ ทรงรับจ้างศิลปินชาวอิตาเลี่ยน เข้ามาเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งอนันตสมาคม และผนังอุโบสถวัดราชาธิราช ภาพที่เขียนล้วนใช้แสงเงาแบบตะวันตกทั้งสิ้น ซึ่งนับว่าเป็นยุคแห่งความสมัยใหม่อย่างแท้จิรง ศิลปิินในยุคนี้ล้วนสนุกและตื่นกับวัฒนธรรมของยุโรปอย่างมาก ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ จิตรกรรมฝาผนังในวัดพระแก้ว อย่างไรก็ดี น.ณ.ปากน้ำเขียนไว้ตอนท้ายของรัชสมัยนี้ว่า
“ ยุคท้ายของ รัชกาลที่ ๗ เห็นจะเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่พระอุโบสถวัดระฆังโฆสิตาราม ซึ่งเป็นแบบทั้งโบราณและใหม่ ที่ปรากฏบนผนังพระโบสถ์และวิหารเป็นครั้งสุดท้าย..”
หลังจากนั้น สยามได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี ๒๕๗๕.

ผู้เขียนจึงขอจบบทความ “ศิลปะแบบเรียลลิสม์ในจิตรกรรมฝาผนังของไทย” ถึงเพียงแค่ยุคสมัยของรัชกาลที่ ๗ เท่านั้น เพราะรูปแบบจิตรกรรมฝาผนังในสมัยรัชกาล ๘ และ ๙ ล้วนเป็นรูปแบบที่แตกต่างจากศิลปะเรียลลิสม์มาก ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้เขียนหวังว่า ผู้อ่านจะพอมองเห็นได้ชัดเจน ว่าศิลปะไทยของเรานั้น แสดงออกถึง สังคม เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ และการปกครองเพียงใด หากผู้อ่านมีโอกาสไปเที่ยวในเมืองไทย อย่าลืมแวะไปชมภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดต่างๆ แล้วกลับมาเล่าให้กันฟังบ้างจะเป็นไร.


หนังสือแนะนำ
จิตรกรรมฝาผนังหนึ่งในสยาม,เมืองโบราณ น.ณ.ปากน้ำ
วัดโสมนัสวิหาร, เมืองโบราณ น.ณ.ปากน้ำ
และหนังสือเรื่องวิเคราะห์จิตรกรรมฝาผนังของ น.ณ.ปากน้ำทั่วไป
X ฉบับหน้า จะเป็นเรื่องการแต่งกายของสตรีและบุรุษไทยในสมัยต้นและกลางรัตนโกสินทร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น