วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Thai mural Painting 1




ศิลปะแบบเรียลลิสม์ ในจิตรกรรมฝาผนังของไทย (บทต้น)

ก่อนที่ผู้เขียนจะเริ่มอธิบายรูปแบบและลักษณะต่างๆในจิตรกรรมฝาผนังของไทย ผู้เขียนอยากลองให้ผู้อ่านนึกเล่นๆหรือจินตนาการอย่างรวดเร็วเสียก่อนว่า อะไรคือสิ่งแรกที่ผู้อ่านเห็นหรือมีในความนึกคิดเกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังแบบไทยๆของ
เรา(ความจริงจะเรียกว่าแบบไทยๆก็ไม่ถูกนักเพราะเราเป็นประเทศพุทธศาสนาแบบเดียวกับประเทศที่แถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ จึงทำให้ จิตรกรรมฝาผนังมีลักษณะคล้ายคลึงกันอย่างมาก จนบางทีแทบจะแยกไม่ออกทีเดียว) ผู้เขียนขอสารภาพว่า ก่อนหน้านั้น ผู้เขียนไม่ได้คิดหรือเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังของไทย นอกจากจะทราบและเข้าใจว่า จิตรกรรมฝาผนังนั้นบ่งบอกวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมของคนสมัยโบราณ ดังเช่นที่เราได้เห็นว่า หนังไทยที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ในช่วงปีหลังๆมานี้ เริ่มเปิดฉากด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังของไทยกันบ่อยๆ เช่น เรื่องแม่นาค เรื่องขุนแผน หรือ เรื่องสุริโยไท นอกจากนั้น จิตรกรรมฝาผนังยังทำให้ผู้เขียนมีความสุขใจ อย่างยิ่งยามเมื่อได้ไปวัดและได้มีโอกาสดูรูปพุทธประวัติหรือทศชาติชาดกภาคต่างๆ
ของพระพุทธเจ้าจากฝาผนังโบสถ์หรือวิหาร ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละวัด แต่ละภูมิภาค แต่ละความเข้าใจในการที่จะถ่ายทอดศิลปะออกมา หากแต่ทั้งหมดนั้น ก็ยังไม่เท่ากับความรู้ครึ่งหนึ่ง หลังจากที่ได้อ่านงานเขียนเชิงวิเคราะห์จิตรกรรมฝาผนังของบรมครู ท่านอาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ หรือ น. ณ ปากน้ำ หรือ พลูหลวง ศิลปินและนักประวัติศาสตร์ของไทย ผู้ซึ่งมีความลึกซึ้งและเฉียบคมในการวิเคราะห์จิตรกรรมฝาผนังอย่างหาผู้ใดเทียบได้เหมือน ผู้เขียนจึงขอกล่าวแต่เนิ่นๆว่า เนื้อหาที่ผู้เขียนจะนำมาเสนอต่อไปนี้นั้น ล้วนอยู่บนพื้นฐานแนวการวิเคราะห์ของอาจารย์ประยูรแทบทั้งสิ้น ซึ่งผู้เขียนได้นำมาประกอบกับบทความชิ้นนี้ โดยนำเสนอแนวการวิเคาระห์ของอาจารย์ประยูรและของตัวผู้เขียนเองสลับกันเป็นช่วงๆไป ยกตัวอย่างเช่น ผู้เขียนมีความสนใจเป็นพิเศษ ในเรื่องของการเมืองการปกครอง ที่สามารถมองผ่านจิตรกรรมฝาผนังเหล่่านี้ได้ เพราะผู้เขียนเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงทางเหตุการณ์บ้านเมืองก็ดี วิสัยทัศน์ของชนชั้นปกครองก็ดี ย่อมสะท้อนให้เห็นทางผลงานศิลปะได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปะแบบเรียลลิสม์ ที่เริ่มต้นในสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่สี่ ( 1851-1868)
ทำให้เราเห็นว่าอิทธิพลตะวันตกที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในเมืองไทยนั้น ไม่ได้มาแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่าง เช่นอิทธิพลศิลปะจีนในสมัยรัชกาลที่สาม แต่เข้ามาอย่างรวดเร็วและรุนแรง อีกทั้งพัฒนาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ซึ่งนั่นอาจจะบอกอะไรเรามากมาย เกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองและความคิดของผู้คนในขณะนั้น
(ศิลปะแบบ Realism คือ การเขียนภาพให้มีลักษณะสามมิติ มีการใช้ Perspective หรือ ระบบทัศนียวิทยาให้เกิดระยะ,ใช้แสงเงา, และการใช้น้ำหนักสีให้เกิดความใกล้ไกล มักจะเห็นได้ชัดในงานเขียนธรรมชาติ(Landscape) หรือ ภาพหุ่นนิ่ง )

จิตรกรรมฝาผนัง ก่อนช่วงสมัยศิลปะแบบเรียลลิสม์

1. จิตรกรรมฝาผนังในสมัยปลายอยุธยา หรือช่วงต้นสมัยของพระนารายณ์ (2199-2231 หรือ 1656-1688) จิตรกรรมฝาผนังส่วนใหญ่ ยังนิยมเขียนแบบสมัยอยุธยาตอนกลาง ดังเช่น การเขียนเรื่องทศชาติชาดกและพระพุทธเจ้าเทคนิคที่ใช้เป็นเทคนิคการเขียนฝาผนัง นิยมใช้ระบบเทมเพอรา คือ การใช้สีฝุ่นบดให้ละเอียดแล้วจึงนำไปผสมกับกาว โดยมีสีขาวเป็นตัวผสมหลักเพื่อให้เกิดสีอ่อนแก่ ดังตามกรรมวิธีเขียนสีฝุ่นทั่วไป เทคนิคนี้เราจะเห็นว่า มีการใช้อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นตะวันออกหรือตะวันตก ต่างกันตรงที่การใช้กาวผสม ซึ่งใช้วัสดุแตกต่างกันและให้ความเหนียวข้นที่ไม่เหมือนกัน เช่น ทางอิตาลีและประเทศตะวันตก นิยมใช้สีฝุ่นผสมไข่แดงและน้ำ เริ่มใช้กันมาตั้งแต่ตอนปลายของศตวรรษที่สิบห้า ในขณะที่ไทยเรานิยมใช้ยางจากไม้นำมาทำเป็นกาว ( เพราะไข่แดงจะแห้งเร็วในประเทศแถบร้อน ซึ่งจะยุ่งยากมากในการเขียนรูป) เนื้อเรื่องและภาพที่เขียนส่วนใหญ่ก็จะเป็นภาพคน ภาพสัตว์ในเทพนิยาย หรือ ภาพสถาปัตยกรรมต่างๆ เช่น วัดวาอาราม หรือปราสาทราชวัง โดยลักษณะภาพที่เขียนออกมานั้นจะเป็นภาพแบบนาฏลักษณ์ ตามคตินิยมของจิตรกรรมไทย สังเกตได้จากลักษณะเส้น ที่วาดจะแสดง และบ่งบอกอาการท่าทางต่างๆของตัวแบบได้ชัดเจน (ให้ลองนึกถึงนาฏศิลป์ไทยก็ได้ เช่น เวลาตัวละครต้องการจะแสดงอาการใดๆก็จะมีท่าเฉพาะนั้นๆ) การเขียนภาพเช่นนี้นั้น จิตรกรจะต้องร่างภาพเสียก่อน เพราะภาพที่เขียนจะต้องอาศัยชั้นเชิงหรือทักษะอย่างยิ่งยวด เนื่องจากจะต้องเขียนออกมาให้ดูอ่อนหวานกลมกลืนทั้งกับตัวแบบและพื้นที่ว่างหรือ
ฉาก ทุกอย่างในภาพจะต้องเป็นกลุ่มก้อน มีช่องไฟ ในจังหวะที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความงดงามในลักษณะที่เราเรียกกันว่า “ ไอเดียลิสติก” นั่นเอง หากแต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การเขียนในยุคอยุธยานี้ยังไม่มีการเน้นหนักเรื่องของความเหมือนจริง จนทำให้ภาพออกมาดูแบน และไม่มีมิติ แม้ภาพฉากธรรมชาติต่างๆ ก็เน้นเขียนความโค้งของใบไม้และดอกไม้ ในเฉพาะการลอกเลียนแบบของรูปทรงมากกว่าความเหมือนจริง ทั้งใบไม้ดอกไม้ยังล้วนถูกประดิษฐ์ประดอยด้วยลายไทยโบราณอีกด้วย นอกจากนั้นแล้ว ภาพมนุษย์ที่นิยมวาด ก็เป็นภาพเหมือนของเหล่าเทวดามากกว่าคนจริงๆ ส่วนภาพสัตว์ต่างๆ ก็เป็นสัตว์ในเทพนิยาย เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ ที่น่าสนใจคือ ภาพเขียนในลักษณะเช่นนี้ ก็จะเกี่ยวโยงไปถึงกษัตริย์ด้วย เพื่อเน้นให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องที่ว่า กษัตริย์คือสมมุติเทพ กำเนิดในเทวสถานและมีชีวิตอยู่ในหมู่มวยเทพเทวดา ซึ่งเราจะพบภาพเขียนที่มีเรื่องราวเช่นนี้มากมายในยุคอยุธยา นั่นรวมทั้งเรื่องราวของพระพุทธเจ้าด้วย โดยเฉพาะฉากมารผจญซึ่งมักปรากฎให้เห็นอยู่ที่ภาพพื้นหลังของพระพุทธเจ้าเสมอๆ
ศิลปะในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น (สมัยรัชกาลที่ 1-3) จิตรกรรมฝาผนังสมัยต้นรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น แม้จะรับรูปแบบการวาดมาจากสมัยอยุธยา เช่น พื้นหลังของฉากพุทธประวัติมักเป็นฉากมารผจญ หากแต่ศิลปะยุคนี้ก็มีลักษณะเฉพาะตัวของตัวเองมากเช่นกัน ทางด้านเทคนิคการวาดรูปนั้นก็ได้มีการพัฒนาขึ้นมาก ทั้งทางด้านรูปแบบและการใช้สี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการใช้สีนั้น ดูเหมือนว่าจะได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียมากทีเดียว คือ เน้นความเจิดจ้าและสดใส และในแต่ละสี ก็มีความหมายสำคัญบ่งบอกลักษณะพิเศษในตัว ผู้เขียนขอยกตัวอย่างผลงานในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 (1782-1809) ในสมัยรัชกาลนี้ รูปแบบของการเขียนภาพให้มีมิติดูเหมือนจะถูกพัฒนาขึ้นด้วยเทคนิคพิเศษ คือ เทคนิคการใช้สีและเส้น ในลักษณะของการตัดเส้น กรรมวิธีนี้จะใช้การตัดเส้นด้วยพู่กันตามรอบนอกของภาพคนสำคัญ เช่น ตัดเส้้นด้วยสีแดงรอบนอก ตรง แขน ลำตัว ขา และเท้า ส่วนตรงใบหน้า ต้องมองไปถึงให้เห็นถึงรายละเอียด ก็จะพบว่าจิตรกรนิยมใช้พู่กันอันเล็กๆ ตัดเส้นด้วยสีน้ำตาลแดงเพื่อให้ใบหน้าดูคมและเด่นขึ้น โดยเน้นหนักตรงขอบตา คิ้ว และเส้นระหว่างริมฝีปาก อีกทั้งยังใช้สีทองตัดขอบกับเส้นรอบนอกสีแดงซ้ำอีกทีด้วย ถ้าหากภาพนั้นเป็นภาพของกษัตริย์ จะเน้นลงทองที่อาภรณ์เครื่องประดับมากเป็นพิเศษ จุดประสงค์ของการตัดเส้นด้วยสีทองนี้ เพื่อให้เห็นถึงอำนาจและความแข็งแกร่ง ซึ่งเราอาจสังเกตพบวิธีเขียนอย่างนี้จากภาพทวารบาลได้เช่นกัน เพราะทวารบาลต้องมีลักษณะเข้มแข็ง มีฤทธิ์อำนาจเป็นพิเศษ ซึ่งกรรมวิธีนี้ ถือว่าทำให้จุดประสงค์ของการเขียนภาพทวารบาลศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น
ผู้เขียนขอกล่าวถึงจิตรกรรมฝาผนังในสมัยถัดไปแต่เพียงสั้นๆ เนื่องจากจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่สองมีความคล้ายคลึงกับสมัยรัชกาลที่หนึ่ง
มาก หากแต่ก็มีรายละเอียดแตกต่างกันเล็กน้อย เนื่องจากสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีใจรักด้านวรรณกรรม เราจึงเห็นภาพที่เล่าเรื่องทศชาติชาดกอย่างสนุกสนานและมีความหลากหลาย ตัวอย่างเช่น เรื่องการเดินทางของพระมหาชนก
2. จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่สาม ( 1824-1851) หรือสมัย สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในช่วงสมัยนี้ จิตรกรรมฝาผนังของไทยก้าวหน้าไปมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เนื่องด้วยว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนับสนุนการสร้างวัดอย่างมาก ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของจิตรกรได้รับการเอาใจใส่ตามไปด้วย แต่จิตรกรก็ยังไม่ละทิ้งประเพณีการเขียนรูปแบบเก่าๆเสียทีเดียว โดยเห็นได้ว่า การใช้เส้นสามเหลี่ยมหยักๆเป็นเส้นแบ่งภาพ ( เส้นสินเทา) ที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยา ( เพราะในสมัยนั้น วัดไม่มีหน้าต่าง จึงต้องใช้เส้นสินเทาแบ่งภาพ) ก็ยังใช้กันอยู่ในโดยทั่วไป ผลงานยุคนี้ ถ้ามองจากมุมมองของผู้เขียน ก็คือ เป็นช่วงที่จิตรกรรมไทยเริ่ม ‘ทันสมัย’ มากยิ่งขึ้น หากแต่ยังไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง การเขียนแบบ “ ไอเดียลิสติก” ก็ยังคงนิยมเขียนกันอยู่ แต่เทคนิคเท่านั้นที่เปลี่ยนไปบ้าง
อีกเรื่องที่ผู้เขียนสนใจอย่างมากก็คือ วัฒนธรรมของจีน ที่เข้ามาสู่สยามประเทศอย่างเต็มตัวในสมัยรัชกาลที่สามนี้เอง จะด้วยว่าเพราะการขยายอำนาจของจีนหรืออะไรก็ตามแต่ ผู้เขียนยังไม่ขอเขียนถคงรายละเอียดตรงนี้ นอกจากจะขอย้ำว่า ศิลปะยุคนี้พัฒนาภายใต้พื้นฐานของการเมืองและเศรษฐกิจ จิตรกรนำภาพเขียนภาพจีนมาประยุกต์ให้มาเป็นอย่างไทยได้อย่างน่าแปลกใจ ที่ผู้เขียนประหลาดใจ ก็เพราะว่า ถ้าไม่มองกันชัดๆลึกๆ เราก็คงไม่สังเกตเห็น จนอาจนึกได้ว่านี่ละคือ ภาพวาดจิตรกรรมในลักษณะไทยแท้ๆ ทั้งที่ความจริงแล้ว คือการประยุกต์ศิลปะอย่างแยบยลของช่างเขียนไทย หรือให้พูดง่ายๆ ก็คือ รับอิทธิพลจริง แต่ไม่ทิ้งรากเหง้าของตัวเอง หากผู้อ่านอยากไปเห็นภาพนี้ด้วยตา ก็ลองไปดูได้ที่อุโบสถวัดนางชี กับ วัดทองนพคุณ ( จากหนังสือของ น ณ.ปากน้ำ) ที่สำคัญคือ จิตรกรรมจีนนิยมลงสีดำตรงเพดานและตกแต่งด้วยลวดลายสีทอง ซึ่งช่างไทยก็รับมาอิทธิพลนี้มาตกแต่งอุโบสถด้วยเช่นกัน หรือในจิตรกรรมฝาผนัง จะเห็นว่าฉากบางฉาก มีหนังสือคัมภีร์พระพุทธศาสนา( ของจีนนิยมเขียนภาพคัมภีร์ในงานจิตรกรรม) และฉากตกแต่งห้องต่างๆก็ล้วนแปลกตาไป ทั้งนี้ เพราะมีการตกแต่งด้วยลวดลายของจีนนั่นเอง เช่น มีการใช้ผ้าม่านประกอบในงาน และผ้าม่านนั้นมีลวดลายของดอกไม้จีนตกแต่งอยู่ด้วย.

ผู้เขียนขอจบบทต้นแต่เพียงเท่านี้ ถือว่า เป็นการแนะนำจิตรกรรมฝาผนังของไทย ในลักษณะทั่วไปเสียก่อนที่จะเข้าถึงสมัย เรียลลิมส์ ซึ่งผู้เขียนยอมรับว่า เป็นสมัยที่น่าสนใจมากสมัยหนึ่งของศิลปะในประเทศไทย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น